ลำดับขั้นตอนการวาดภาพคนเหมือน

1.ร่างภาพ
ก่อนทำการวาดภาพและลงน้ำหนักในภาพคนเหมือนนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการร่างภาพแบบก่อนเพราะถ้าเราร่างภาพแบบไม่เหมือนหรือผิดสัดส่วนพอลงน้ำหนักก็ไม่มีวันที่รูปจะออกมาเหมือนและถูกสัดส่วนตามแบบได้เลย ส่วนการร่างภาพนั้นแนะนำให้ร่างเบาๆก่อน(อาจร่างด้วยดินสอ HB ก็ได้)เพราะกันผิดพลาดและลบแก้ไขได้ง่าย
2.กำหนดแสง-เงา
ขั้นตอนนี้สำหรับรูปที่มีการเข้าแสงที่จัดทำให้เกิดแสง-เงาที่ตัดกันจึงควรลงน้ำหนักด้านที่เป็นเงา บางๆก่อน(ส่วนด้านที่แสงเข้ามากระทบไม่ต้องลงน้ำหนักปล่อยขาวไว้เลย)แล้วจึงเพิ่มน้ำหนักภายหลังเพื่อแยกจากด้านแสงเข้าก่อน กันงงและหลงน้ำหนัก แต่ถ้ารูปต้นแบบเป็นแบบแสงนุ่มไม่ตัดกันชัดเจนก็ข้ามขั้นตอนนี้ได้เลยครับ
3.ลงน้ำหนักกลาง
การลงน้ำหนักในขั้นตอนนี้ให้ลงน้ำหนักใน Step ที่3และ4(กลับไปดูขั้นตอนการฝึกน้ำหนัก5 Step)ไว้ก่อนโดยจุดที่เงาเข้มให้ลง Step 3 และลง Step 4 ในจุดที่เงาไม่มากนัก ส่วนจุดที่สว่างหรือโดนแสงให้เว้นไว้ไม่ต้องลงน้ำหนัก เพราะการที่เราลง Step 3-4 ไว้ก่อนนั้นจะเป็นน้ำหนักที่ไม่เข้มมากเกินไปสามารถเพิ่มน้ำหนักและลบออกได้ง่ายที่สำคัญการที่เราลงน้ำหนักในระดับนี้ก่อนจนทั่วภาพนั้นจะไม่ทำให้ภาพนั้นดูมืดหรือเข้มไปด้วยครับ และยังแยกด้านที่เป็นแสงและเงาได้ชัดเจนทำให้วาดภาพได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น
4.การเพิ่มน้ำหนัก
ขั้นตอนนี้คือขั้นตอนที่ทำให้ภาพดูมีระยะชัดลึกมีน้ำหนักและมีชีวิตขึ้นมาครับโดยการเพิ่มน้ำหนักเข้าไปในจุดที่เราลงน้ำหนักกลางไว้ ดูว่าจุดไหนที่เป็นจุดที่มีเงาเข้มมีความลึกและมีการบังแสงหรืออยู่ในระยะที่ลึกเข้าไปจุดพวกนี้จะต้องมีน้ำหนักเข้มใน Step ที่ 1-2 เช่นจุดที่จะมีน้ำหนัก Step ที่1ได้ก็อย่าง แก้วตา,หัวตา,ขอบตาบน,รูจมูก,รูหู,ในปากหรือเส้นกลางปาก,หัวคิ้วและใต้คาง/สันกับปีกจมูก(ฝั่งเงามืด)ฯลฯเหล่านี้ล้วนต้องใช้น้ำหนักที่เข้มเพื่อความมีมิติของภาพและการลงน้ำหนักเหล่านี้ต้องคำนึงถึงจุดที่เชื่อมน้ำหนักด้วยเช่นถ้าจะลงน้ำหนักที่ทำให้ดูนุ่มนวลจากเข้มเข้าหาอ่อนโดยไม่ใช่จุดที่แสงเงาตัดกันก็ต้องมีน้ำหนักที่คอยเชื่อมและมีการกระจายน้ำหนักออกรอบๆด้าน คือเมื่อลงน้ำหนัก Step ที่1ในจุดใดจุดหนึ่งก็กระจายออกด้วย Step ที่2รอบๆด้าน(Step ที่2นี้เป็นตัวเชื่อมStep ที่1 เพื่อเข้าหากับ Step ที่3 หรือ4 ทำให้ไม่ดูขาดจนเกินไปและภาพดูนุ่มนวลขึ้น)เช่นกันถ้าลงน้ำหนักด้วย Step ที่2แล้วต้องการเชื่อมกับStep ที่4หรือ5 ก็ต้องใช้น้ำหนัก Step ที่3เป็นตัวเชื่อม ส่วนด้านที่แสงเข้าที่เราเว้นกระดาษไว้ขาวโดยไม่ลงน้ำหนักก็เชื่อมกับน้ำหนักกลางที่เราลงไว้ด้วย Step ที่5เข้าหา Step ที่4 ครับ  แต่ข้อควรสังเกตุอีกอย่างคือถ้าจุดไหนเป็นจุดที่แสงเงาตัดกันก็ไม่ควรใส่น้ำหนักที่เป็นตัวเชื่อมลงไปเพราะจะทำให้ภาพขาดความสมจริงไป
5.กำหนดทิศทางผม
เมื่อทำใบหน้าเสร็จแล้วก็ต้องมาทำผมกันบ้างผมมีความสำคัญกับภาพมากนะครับเพราะมันจะทำให้ดูสมจริงมีชีวิตชีวาทำให้ภาพดูสวยขึ้นได้มากทีเดียวยกเว้นรูปคนหัวล้านหรือใส่หมวก ขั้นตอนการวาดผมก็คือก่อนอื่นต้องกำหนดทิศทางของเส้นผมก่อนโดยการลงน้ำหนักกลางปาดไปตามแนวผมของต้นแบบ(เหมือนการหวีผมครับ)
6.เพิ่มน้ำหนักผม
ขั้นตอนนี้คล้ายๆตอนทำใบหน้าแต่ต่างกันเรื่องทิศทางของการควบคุมดินสอ จะเพิ่มน้ำหนักโดยรวมก่อนก็ได้ครับแล้วเว้นด้านที่ถูกแสงอย่าให้น้ำหนักเท่ากันไปหมดเพื่อความมีมิติและจบด้วการนำดินสอที่แหลมกรีดตัดไปตามแนวเส้นผมทำให้ผมดูเป็นเส้นๆสวยงาม
*(ภาพที่ผมนำมาวาดประกอบยังไม่เสร็จสมบูรณ์เนื่องจากใช้เวลาในการวาดไม่กี่ชั่วโมงจึงขอนำรูปผลงานของ อ.ลาภ  อำไพรัตน์ ที่เสร็จสมบูรณ์แล้วมาให้ดูเป็นตัวอย่าง)
7.เก็บรายละเอียดและจบงาน
เป็นขั้นตอนสุดท้ายในการวาดภาพคนเหมือน เช่น การนำดินสอแหลมๆมากรีดเป็นขนตา,ไรผม,คิ้ว หรือการมาเก็บรายละเอียดพวกตัวเชื่อมน้ำหนักแสงเงา และรวมถึงการทำเสื้อผ้า,พื้นหลัง(Background)ฯลฯ เหล่านี้ยิ่งเราเก็บรายระเอียดได้มากเท่าไหร่ความเหมือนความสวยงามและคุณค่าของงานก็จะมากตามไปด้วยครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น